เวลาได้ไปเยือนถิ่น จังหวัดไหนในเมืองไทยเป็นครั้งแรกแล้วล่ะก็ นอกจากผมจะไม่พลาดลิ้มชิมร้านอาหารเด็ด เยือนวัดคู่บ้าน หรือไปทัศนาธรรมชาติสวยคู่เมืองนั้นแล้ว ผมมักจะหาเวลาไปเที่ยวชม ‘ศาลหลักเมือง’ ของจังหวัดนั้นๆ เป็นสถานที่ต้นๆ อยู่เสมอครับ
ศาลหลักเมือง ที่ได้ไปไหว้มาล่าสุดก็คือ หลักเมืองของถิ่นภูเขาไฟ และแดนปราสาทขอมแห่งอีสานใต้ ‘เมืองบุรีรัมย์’ นั่นเอง ขอบอกว่า ศาลหลักเมืองที่นี่ สวยอย่างมีสไตล์ แตกต่าง น่าเที่ยวชม และดูขึ้นกล้องเอามากๆ สิ่งที่เห็นไม่ใช่โบราณสถานเก่าแก่ ไม่ใช่ปราสาทหินหลังไหนที่ก่อสร้างมาแล้วอย่างยาวนานหรอกครับ แต่ทางจังหวัดเขาจงใจออกแบบ และสร้างศาลให้มีความแตกต่างจากแห่งอื่นๆ ขณะเดียวกันยังสะท้อนตัวตนของอารยธรรมขอมโบราณที่เคยรุ่งเรืองในถิ่นอีสานใต้มาเป็นเวลานานนับพันปีได้ดีอีกด้วย
มาฟังประวัติกันซักนิดนะครับ ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์ แห่งนี้ เป็นศาลใหม่ ที่สร้างขึ้นใช้แทนศาลเดิมในปี 2512 ที่มีขนาดเล็ก คับแคบ และทรุดโทรมผ่านวันเวลามานานกว่า 30 ปีแล้ว ระหว่างปี 2548 – 2550 จังหวัดจึงดำเนินการสร้างศาลขึ้นใหม่ เพื่อประดิษฐานพระหลักเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบุรีรัมย์ต่างเคารพศรัทธา และยึดเหนี่ยว ให้เกิดความสง่างาม เป็นศรีแก่จังหวัด
สถาปัตยกรรมที่เห็นนี้เกิดจากฝีมือของช่างกรมศิลป์ที่มาร่วมออกแบบครับ เป็นรูปแบบศิลปะขอมประยุกต์ ที่รับอิทธิพลมาจากยุครุ่งเรืองในสมัยพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 2 มองจากด้านนอกมียอดองค์ปรางค์ 5 ชั้น แต่ละชั้นประดับกลีบขนุน และเทพประจำทิศเพื่อคุ้มภัยรักษาทิศต่างๆ เอาไว้ ตามคติความเชื่อ ส่วน องค์เรือนธาตุ เป็นที่ประดิษฐานพระหลักเมือง มีลักษณะชักมุขออกทั้ง 4 ด้าน มีความหมายถึง การกระจายความเป็นหลักฐานมั่นคงออกไปทั้ง 4 ทิศ ยอดศาลพระหลักเมืองติดตั้งรูปดอกบัว Stain Glass ประดับทองเพื่อนำแสงเข้าสู่หลักเมือง สำหรับ หลักเมือง นั้นประดิษฐานอยู่ที่ตำแหน่งตรงกลางองค์ปรางค์ แทนที่ตั้งเดิมของศิวลึงค์
ระหว่างการก่อสร้าง ศาลหลักเมือง ควบคู่ไปด้วยกันจังหวัดยังดำเนินการสร้าง ‘ศาลเจ้าจีน’ พร้อม รีโนเวท ภูมิทัศน์รอบๆ ‘สระน้ำศักดิ์สิทธิ์’ ด้านหน้า ‘วัดกลางพระอารามหลวง’ ที่อยู่บริเวณเดียวกัน จนหมดจดงดงาม ทำให้ทั้ง ศาลหลักเมือง และสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นสัญลักษณ์ ดั่งศาสนมณฑล เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด ที่ถูกใช้ประกอบพิธีทางศาสนาอยู่สม่ำเสมอ แถมยังเป็น แลนมาร์คของเมืองบุรีรัมย์ ที่ใครมาก็จะต้องแวะเวียนมากราบสักการะทุกครั้งไป
ผมเปิดพลิกดู ไกด์บุ๊ก คู่เมืองท่องเที่ยวบุรีรัมย์ ก็พบว่า บุรีรัมย์ มีคำขวัญที่ไพเราะ ชัดเจนแต่งไว้ว่า “เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม” ได้มาเห็น ศาลหลักเมือง แล้ว ก็คล้อยตามอย่างยิ่งครับว่า สมแล้วที่เป็น ศาลหลักเมืองแห่งดินแดนปราสาทขอมโบราณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ช่างบ่งบอกตัวตน ความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างครบครัน สมบูรณ์จริงๆ.
สระน้ำศักดิ์สิทธิ์หน้า วัดกลางพระอารามหลวง
ศาลเจ้าจีน ในบริเวณศาลหลักเมือง
ขอขอบคุณ .bloggang.com/viewdiary.php?id=mrpostcard&month=11-2013&date=24&group=1&gblog=58