หลังจากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้นำเสนอข่าวการค้นพบรอยพระพุทธบาทที่ อ. บัวเชด จ. สุรินทร์ ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว  ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อ. ศรีศักร วัลลิโภดม พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ได้เดินทางไปสำรวจรอยพระพุทธบาทที่ชายแดนจังหวัดบุรีรัมย์ ตามเอกสารที่อาจารย์ท่านหนึ่งในจังหวัดได้สำรวจค้นพบและส่งข้อมูลมาให้ตรวจสอบ
                จากเอกสารระบุว่า รอยพระพุทธบาทดังกล่าวประดิษฐานอยู่บนเพิงหินใกล้หลักเขตชายแดนไทย-กัมพูชา หลักที่ ๒๗ ทางด้านทิศใต้ของบ้านราษฎร์รักแดน หรือบ้านบาระแนะ ๒ ใน ต. หนองแวง อ. ละหานทราย  เมื่อเดินทางไปสำรวจพบว่าเส้นทางที่จะขึ้นไปยังรอยพระพุทธบาทดังกล่าวเป็นเขตชายแดนที่ยังคงมีกับระเบิดอยู่ทั่วไป ต้องให้เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้นำทางเข้าไปเท่านั้น  มูลนิธิฯ จึงติดต่อและได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก ร.อ. อุทิศ สุขมาก ผู้บัญชาการกองร้อยทหารพรานที่ ๒๖๐๑ ที่นำคณะของเราขึ้นไปสำรวจยังสถานที่แห่งนั้นด้วยตนเอง
 
                เส้นทางไปยังหลักเขตชายแดนที่ ๒๗ ต้องผ่านป่าดิบที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ มีไม้ขนาดใหญ่ยืนต้นให้เห็นอยู่จำนวนมาก แต่อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่ทหารให้ข้อมูลว่าป่าที่เห็นอยู่นี้เป็นเพียงส่วนน้อยนิดของผืนป่าดงใหญ่ที่เคยครอบคลุมพื้นที่สวนยางพารา สวนส้มโชกุน ไร่มันสำปะหลัง และท้องทุ่งนา นับพัน ๆ ไร่ที่ตั้งประชิดกับแนวเขตป่าแห่งนี้  พื้นที่เกษตรอันกว้างขวางสุดลูกหูลูกตานี้ล้วนเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นหลังการสิ้นสุดสงครามกับคอมมิวนิสต์ มีการบุกเบิกพื้นที่ป่าเพื่อจัดสรรที่ทำกินให้กับราษฎรที่เข้ามาอาศัยในหมู่บ้านป้องกันชายแดน ซึ่งทางราชการจัดตั้งขึ้น ปัจจุบันในผืนป่าตามแนวชายแดนบนเทือกเขาพนมดงเร็กมีหน่วยทหารไปตั้งฐาน เพื่อป้องกันดูแลแนวชายแดนเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะตามจุดช่องเขาซึ่งคนทั้งสองประเทศใช้เดินทางไปมาหาสู่กัน
 
  รอยพระพุทธบาทคู่ที่สลักอยู่บนเพิงหินทราย
สภาพเพิงหินที่สูงจากพื้นป่าไม่มากนัก บริเวณใกล้ ๆ มีโขดหินสำหรับใช้นั่งวิปัสสนาได้ 
 
             จากหน่วยทหารบริเวณหลักเขตชายแดนที่ ๒๗ เดินลึกเข้าไปอีกราว ๒ กิโลเมตรก็ถึงที่ตั้งของรอยพระพุทธบาทซึ่งอยู่ไม่ไกลจากช่องบาระแนะนัก  รอยพระบาทดังกล่าวเป็นรอยพระบาทคู่ที่สลักอยู่บนเพิงหินทรายซึ่งมีลักษณะคล้ายกับที่พบที่บัวเชด  ขนาดของรอยพระบาทยาว ๑๑๐ เซนติเมตร กลางพระบาทกว้าง ๓๘ เซนติเมตร และลึกลงไปจากผิวหน้าของหินประมาณ ๙ เซนติเมตร ตรงกลางพระบาทสลักเป็นรูปดอกบัวบานที่มีลักษณะแบบศิลปะลพบุรี  ซึ่ง อ.ศรีศักร มีความเห็นว่ารอยพระพุทธบาทแห่งนี้เหมือนสร้างยังไม่เสร็จ ราวกับค่อย ๆ ทำไป  ซึ่งผู้ทำอาจเป็นนักบวช นักพรต เช่น พระสงฆ์ ฤาษี หรือชีปะขาว ด้วยสภาพแวดล้อมใกล้ ๆ กับรอยพระบาทมีโขดหินสำหรับนั่งวิปัสสนาจำศีล  ซึ่งผู้กองอุทิศก็ยืนยันว่าปัจจุบันยังคงมีพระภิกษุเดินทางขึ้นมาวิปัสสนา ณ ที่นี้  อ. ศรีศักร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การวิปัสสนาบนโขดหินของภิกษุสงฆ์มีพัฒนาการมาจากเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับปริวิเวกที่เพิงหิน ณ เขาคิชฌกูฏ และสงฆ์ในพุทธศาสนาเถรวาทของไทย เขมร ลาว รับสืบทอดต่อมา โดยเฉพาะบรรดาพระป่า เราจึงพบเพิงผา ถ้ำวิหาร ที่เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณกาลมากมาย เฉพาะอย่างยิ่งในเขตอีสานที่ยังคงสืบสำนักพระฝ่ายอรัญญวาสีอยู่หลายแห่ง
 
            สำหรับอายุของรอยพระบาทแห่งนี้ อ.ศรีศักรกำหนดกว้างๆ ว่าน่าจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๒๐ ซึ่งเป็นเวลาที่พุทธศาสนาเถรวาทฝ่ายลังกาวงศ์ได้เผยแผ่เข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแพร่หลาย จนทำให้เกิดประเพณีการสร้างวัด สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ ตลอดจนสร้างรอยพระพุทธบาทไว้บูชา อันได้รับอิทธิพลจากตำนานพระเจ้าเลียบโลกในคัมภีร์มหาวงศ์ของลังกา  รอยพระพุทธบาทคู่แห่งนี้เป็นการประทับพระบาทแบะออก เหมือนท่าพระภิกษุประทับยืนกำหนดจิต ซึ่งอาจเป็นด้วยลักษณะของเพิงหินที่ลาดลง จึงจงใจสร้างรูปลักษณ์ประหนึ่งประทับยืนมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็เป็นได้ 
 
 
ลายดอกบัวบานที่สลักอยู่กลางพระบาท ลานศิลาแลงที่มีการขุดเจาะเป็นหลุมกลมอยู่ทั่วไป ในพื้นที่บริเวณนั้นยังพบร่องรอยการตัดศิลาแลงเพื่อนำไปใช้งาน
 
            นอกจากนี้บนเนินเขาเดียวกัน ยังมีการสร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้น และนำชิ้นส่วนของปราสาท เช่น เสาประดับกรอบประตู บรรพแถลง มาตั้งไว้ด้วย  สอบถามจากทหารเขมรที่ตั้งฐานอยู่ใกล้ชายแดนและร่วมเดินทางมาสำรวจกับคณะ ได้ความว่าผู้มาสร้างเป็นอดีตนายทหารเขมรแดงและชิ้นส่วนปราสาทเหล่านี้มาจากปราสาทบันทายฉมาร์ ที่ตั้งอยู่ต่ำลงไปจากช่องบาระแนะในเขตประเทศกัมพูชา   เมื่อพ้นเขตป่าเข้ามายังบริเวณเขตเทือกเขาในหมู่บ้านราษฎร์รักแดน ยังปรากฏลานศิลาแลงเป็นบริเวณกว้าง บนลานมีร่องรอยการเจาะศิลาแลงเป็นหลุมกลมอยู่ทั่วไปและมีตำแหน่งแผงผังไม่แน่นอน ขณะเดียวกันยังพบการเจาะเป็นช่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและช่องรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสอีกด้วย  ลักษณะการกระทำดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นการกระทำของมนุษย์ ซึ่งยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่าทำเพื่อวัตถุประสงค์ใด
 
 
 
 
 
ขอขอบคุณ http://www.lek-prapai.org/watch.php?id=350
Go to top