นางจิรนันท์ สกุลตั้งไพศาล นักธุรกิจหญิงเมืองหนองคาย เจ้าของร้านตลาดท่าเรือ ท่าเสด็จ หนองคาย เปิดเผยว่า

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ที่ถือว่ามีความแข็งแกร่งด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยววิถีถิ่น วิถีไทย และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จ.หนองคาย เป็นเมืองหน้าด่านทำหน้าที่รับแขกบ้านแขกเมือง ซึ่งเธอมีความมั่นใจในศักยภาพของจังหวัด เพราะเรามีความพร้อมทั้งด้านโลจิสติกส์และการท่องเที่ยว มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั้งด้านโบราณสถาน โบราณวัตถุ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และอื่น ๆ ที่กระจายอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ

train2

หลัง เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี มีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายประเทศ รวมทั้งจีน เดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเธอมองว่าเรายังมีสิ่งที่มีคุณค่าอีกหลายอย่าง ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น สถานีรถไฟหนองคายเก่า ซึ่งเป็นมรดกอันเก่าแก่ของจังหวัด มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 หรือ ประมาณ 59 ปีที่แล้ว ตั้งอยู่ชุมชนในมีชัย เขตเทศบาลเมืองหนองคาย เป็นที่รับส่งผู้โดยสาร การขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยมีแพขนานยนต์ขนส่งสินค้าข้ามแม่น้ำโขงไปยัง สปป.ลาว

แต่ด้วยความ เจริญของบ้านเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2552 ได้ย้ายสถานีรถไฟหนองคายจากเดิมไปตั้งแห่งใหม่ที่ชุมชนดอนดู่ เพื่อเชื่อมทางรถไฟระหว่างประเทศไทย-สปป.ลาว ทำให้สถานีเก่าไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกต่อไป

นางจิรนันท์ กล่าวต่อไปว่า เธอมองเห็นคุณค่าดังกล่าว จึงได้ติดต่อขอเช่าที่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย เฟสแรกในเนื้อที่ 11 ไร่ เป็นเวลา 20 ปี โดยจะใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต โดยจะรักษาประวัติศาสตร์การรถไฟและความเป็นมาของสถานีรถไฟ ข้อกำหนดต่าง ๆ ของการรถไฟ ที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญไว้ทั้งหมด เพราะในอนาคตเราไม่แน่ใจว่าการวางรูปแบบนี้จะยังเหลือให้เห็นต่อไปหรือไม่

การ พัฒนาพื้นที่แห่งนี้ใช้ชื่อว่า “ณ ตลาดรถไฟ” จะอยู่ภายใต้แนวคิดที่สำคัญ คือ เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทุกมิติ เป็นมิตรกับชุมชน และชุมชนได้ประโยชน์ทุกเพศทุกวัย ในการเข้ามามีส่วนร่วม เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ การพัฒนาจะคำนึงถึง อารยสถาปัตย์ ด้วยการออกแบบรองรับ ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของเราจริง ๆ เพราะอารยสถาปัตย์จะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก จึงเป็นไฮไลต์ตัวหนึ่งแม้จะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวก และส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับคนทุกเพศทุกวัย โดยจะดำเนินการเป็น 2 เฟส คือ

เฟสแรก ประกอบด้วย อาคารพิพิธภัณฑ์ (ตัวสถานี) เป็นจุด Landmark ของโครงการ ซึ่งจะเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการถาวร พระมหากษัตริย์กับรถไฟไทย จัดนิทรรศการบอกเล่าประวัติความเป็นมาของรถไฟหนองคายและรถไฟไทย จัดนิทรรศการแสดงเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับสถานีรถไฟในอดีต มีหัวรถจักรไอน้ำ มีโบกี้รถไฟ 8 โบกี้ สำหรับจัดนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวของการรถไฟไทยทั้งหมด โดยมีเครือข่าย การรถไฟแห่งประเทศ ไทยมิวเซียมสยาม บริษัทไปรษณีย์ไทย ที่จะมาจัดแสดงแสตมป์เกี่ยวกับรถไฟ บริเวณชานชาลา มีอาคารและบูธขนาดเล็กจำหน่ายสินค้าโอทอป ผลิตภัณฑ์จากชุมชน ของฝากจาก จ.หนองคาย และจากจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งพื้นที่จัดแสดงภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่จะสร้างรายได้ สนับสนุนการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ยั่งยืนตามปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง

ตึกแถวพาณิชย์ เป็นห้องแถว 2 ชั้น ในแบบสถาปัตย์รถไฟโบราณผสมผสานกับการใช้สอยของโลกปัจจุบัน จะประกอบด้วยร้านจำหน่ายอาหาร ฟาสต์ฟู้ด ร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ ธนาคาร และห้างร้านต่าง ๆ พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นฟู้ดคอร์ต มีพื้นที่ขายอาหารท้องถิ่น อาหารนานาชาติ มีโบกี้รถไฟโบราณ สมัยวิคตอเรีย ประเทศอังกฤษสำหรับนั่งรับประทานอาหาร มีอาคารเรือนกระจก Conservatory เป็นอาคารทรง Glasshouse 2 ห้อง สามารถบรรจุคนได้ประมาณห้องละ 100 คน มีพื้นที่กลางแจ้งบนทะเลสาบกว่า 700 ตร.ม. สำหรับจัดงานได้หลายรูปแบบ มีจักรยานราง (Rail Bike) ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้รางรถไฟของจริง ที่ตลาดรถไฟแห่งนี้จะมีครบในทุกเรื่องทั้งแชะ (ถ่ายรูป) ชง (กาแฟ) ชิม (อินเตอร์ฟู้ด) แชร์ (ภาพ) โดยมีชุดแต่งกายโบราณให้เช่า หรือแต่งมาเองเพื่อถ่ายรูปซึ่งทุกจุดจะเป็นแหล่งเรียนรู้ และสอดแทรกเรื่องราวของการรถไฟทั้งหมด เช่น จุดโบกธงเขียว ธงแดง จะสื่อให้รู้ความหมายของการใช้สัญญาณธงในการปล่อย หรือหยุดรถไฟ เป็นต้น โดยจะเปิดให้บริการได้ภายในปลายปี 2559 นี้

      ส่วนเฟสที่ 2 จะเริ่มดำเนินการต่อในต้นปีต่อไป (2560) จะทำการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักเจ้าหน้าที่รถไฟเก่า 6 หลังให้เป็นโรงแรมขนาด 30 ห้อง เป็นบูติคโฮเต็ล Themed–Hotel ที่ไม่ขายว่าเป็นโรงแรมกี่ดาว แต่เป็นโรงแรมแห่งแรกของประเทศไทย ที่หากท่านอยากมาสัมผัสและอยากมีประสบการณ์เรื่องของการรถไฟที่นี่ตอบโจทย์ ได้

เพราะบ้านพักแต่ละหลังเป็นบ้านพักนายสถานีรถไฟ ตำรวจรถไฟ นายช่างรถไฟและเจ้าหน้าที่รถไฟ จะยังคงมีเครื่องมืออุปกรณ์ดั้งเดิมอยู่ครบครัน นอกจากนี้ยังมีส่วนแสดงแกลลอรี มีห้องอเนกประสงค์สำหรับจัดงานแต่งงาน เวทีไทย วิถีไทย เรือนทรงไทย รองรับการจัดงานเลี้ยง งานหมั้นและอื่น ๆ อย่างครบครัน ซึ่งโครงการ ณ ตลาดรถไฟ นี้จะเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ไว้รองรับนักท่องเที่ยวหลัง การเข้าสู่เออีซี ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองหนองคาย

Go to top