อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันตกตามทางหลวงหมายเลข 2006 ประมาณ 8 กม. เป็นแหล่งพักผ่อนริมน้ำที่มีความสวยงามอีกแห่งหนึ่ง เกิดจากการสร้างเขื่อนกั้นห้วยป่าแดงในเขตตำบลป่าเล่า อ่างเก็บน้ำนี้แวดล้อมด้วยทัศนียภาพของขุนเขาและสายน้ำที่งดงามโดยเฉพาะในยามเช้าตรู่และยามเย็น ช่วงที่พระอาทิตย์ขึ้น-ลง ประชาชนนิยมมาพักผ่อนหย่อนใจ นั่งรับประทานอาหาร สังสรรค์กับเพื่อฝูง ในบริเวณมีร้านขายอาหารบริการ อาหารที่ขึ้นชื่อคือ อาหารจำพวกปลาน้ำจืด เช่น ปลาเผา ปลาทอด

 

 

 

 

 

 

 

 
 เมื่อฤดูแล้ง เกษตรกรในเขตอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ต้องเดือดร้อน ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนักมาทุก ๆ ปี ด้วยเหตุนี้ กรมชลประทานจึงได้ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดงขึ้น เมื่อ พ.ศ.2500 แล้วเสร็จใน พ.ศ.2550 เพื่อเก็บกักน้ำในลำห้วยป่าแดงไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม การเกษตรกรรม ตลอดจนการประปา ของราษฎรในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ตามแผนพัฒนาของคณะกรรมการจังหวัดภาคเหนือ
            โครงการฯ นี้ สามารถส่งน้ำให้เกษตรกรใช้ในการเพาะปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกสำหรับการปลูกข้าวนาปี ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน - ต้นเดือนพฤศจิกายน พื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 13,560 ไร่ ส่วนครั้งที่ 2 ส่งน้ำให้ใช้เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ได้แก่ ถั่วเขียว ตั้งแต่กลางเดือนมกราคม - ต้นเดือนกุมภาพันธ์ เฉลี่ยปริมาณน้ำที่ใช้ปีละประมาณ 1,800,000 - 2,500,000 ลบ.ม.
            อ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง ตั้งอยูู่ที่บ้านป่าแดง หมู่ที่ 3 ตำบลป่าเลา อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ทั้งปี ประมาณ 25 ล้าน ลบ.ม. ระดับเก็บกัก +158.60 ม. (รทก.) ความจุของอ่างฯ 20,700,000 ลบ.ม.
ในการส่งน้ำให้เกษตรกร ทางโครงการฯ จะส่งด้วยระบบคลองส่งน้ำ โดยแบ่งพื้นที่ส่งน้ำออกเป็น 2 โซน โซนแรกอยู่ทางฝั่งซ้ายของลำห้วยป่าแดง รับน้ำจากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายคลองซอย 1 ขวา และคลองซอย 2 ขวา ส่งผ่านคูน้ำจำนวน 35 สาย และท่อส่งน้ำเข้านาจำนวน 8 ท่อ โซนที่ 2 อยู่ฝั่งขวาของลำห้วยป่าแดง รับน้ำจากคลองสายใหญ่ฝั่งขวา คลองซอย 1 ซ้าย และคลองซอย 2 ซ้าย ส่งผ่านคูน้ำจำนวน 18 สาย และท่อส่งน้ำเข้านาจำนวน 9 ท่อ รวมพื้นที่ส่งน้ำทั้ง 2 โซน จำนวน 13,560 ไร่
            ปัจจุบัน กรมชลประทานอนุญาตให้ 3 หน่วยงาน สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดงไปผลิตน้ำประปา เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนและให้หน่วยทหารในสังกัดใช้อุปโภคบริโภค ได้แก่ การประปาเพชรบูรณ์ จังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ และกองพลทหารม้าที่ 1 รวมปริมาณน้ำทั้ง 3 หน่วยงาน ที่สูบไปใช้ผลิตน้ำประปาได้ เฉลี่ยปีละประมาณ 3,240,000 ลบ.ม.

 

 

Go to top