559000003843002a

ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ ราวปี ๒๔๘๖-๒๔๘๗ จอมพล ป.พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี มีโครงการเร่งด่วน เตรียมย้ายเมืองหลวงไปอยู่จังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนสาเหตุที่ย้ายเป็นความลับสุดยอดทางยุทธศาสตร์ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์กันไป ๒ ทาง คือ

ทางหนึ่ง เนื่องจากกรุงเทพฯถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศอย่างหนัก จึงเห็นว่าเพชรบูรณ์ซึ่งมีเทือกเขาล้อมรอบ สามารถป้องกันภัยทางอากาศได้ดีกว่า ซึ่งเหตุผลนี้ดูจะเป็นการปล่อยออกมาจากรัฐบาลให้เข้าหูญี่ปุ่น เมื่อความลับเรื่องย้ายเมืองหลวงถูกเปิดเผย

559000003843001

ส่วนอีกทางหนึ่งกล่าวว่า แม้กรุงเทพฯจะถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตี แต่ก็โจมตีเฉพาะจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายญี่ปุ่นเท่านั้น คนไทยโดนแค่ลูกหลง แต่เป็นเพราะจอมพล ป.ซึ่งจำใจต้องร่วมรบกับญี่ปุ่น หลังจากญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เห็นว่าใกล้เวลาที่จะต้องลงมือตอบโต้ญี่ปุ่นแล้ว เพราะญี่ปุ่นกำลังเพลี่ยงพล้ำแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร จึงเตรียมย้ายเมืองหลวงไปอยู่จังหวัดเพชรบูรณ์ที่มีภูเขาล้อมรอบ เหมาะกับการใช้กำลังคนที่น้อยกว่ารับมือกับฝ่ายที่มีกำลังมากกว่าได้ อีกทั้งยังตั้งอยู่กึ่งกลางประเทศ สามารถถอยออกไปได้ทุกทิศ

559000003843002

หลังจากมีการสำรวจและวางแผนอย่างเงียบๆแล้ว เริ่มมีการย้ายกระทรวงทบวงกรมและสถานที่ราชการทุกแห่งไปอยู่เพชรบูรณ์ โดยส่งทั้งฝ่ายทหารและข้าราชการพลเรือนเข้าบุกเบิก กระจายกันทั้งอำเภอหล่มสักและอำเภอเมือง เช่น ย้ายกระทรวงการคลังไปอยู่ที่ถ้ำฤาษี ตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก ปรับปรุงถ้ำให้มั่นคงปลอดภัย ขนทองคำทุนสำรองการคลังและทรัพย์สินในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ไปเก็บไว้ที่นั่น ปัจจุบันยังเรียกกันว่า “ถ้ำฤาษีสมบัติ” ย้ายโรงพิมพ์ธนบัตรกับโรงพิมพ์กรมแผนที่ซึ่งพิมพ์เอกสารราชการทุกอย่าง ไปอยู่รวมกันที่หนองนายั้ง อำเภอเมือง

559000003843003

มีการสร้างสำนักนายกรัฐมนตรีและศาลารัฐบาลที่น้ำตกห้วยใหญ่ หลังที่ตั้งกระทรวงพาณิชย์ ปลายห้วยป่าไม้แดง นอกจากนี้ยังสร้างทำเนียบ "บ้านสุขใจ " ติดแม่น้ำป่าสัก เป็นที่พักของจอมพล ป.และครอบครัว สร้างทำเนียบ "สามัคคีชัย" ที่เขารัง และทำเนียบพักแรมอีกแห่งที่บ้านน้ำก้อ สร้างศาลากลางจังหวัดตรงที่ตั้งศาลากลางจังหวัดในปัจจุบัน และวางแผนสร้างบ้านบัญชาการ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่บึงสามพันด้วย

ในด้านการทหาร ได้ย้ายโรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร.มาที่บ้านป่าแดง ตำบลป่าเลา อำเภอเมือง ตั้งค่ายทหาร“พิบูลศักดิ์” ขึ้นที่ ตำบลหนองไขว่ อำเภอหล่มสัก ย้ายกระทรวงกลาโหมมาที่บ้านป่าม่วง ตำบลท่าพล อำเภอเมือง ย้ายกองทัพอากาศมาที่บ้านสักหลง อำเภอหล่มสัก รวมทั้งกรมยุทธโยธา คลังแสงและโรงงานช่างแสง กรมพลาธิการ กรมยุทธศึกษา กรมเสนาธิการ กรมเสนารักษ์ กรมเชื้อเพลิง ก็ย้ายไปอยู่เพชรบูรณ์ทั้งหมด และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างเมืองหลวงใหม่
559000003843004
ในด้านความสะดวกและความบันเทิง มีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้หลายแห่ง เพิ่มโทรศัพท์ให้เพียงพอแก่ความต้องการของราชการและธุรกิจ มีการสร้างสโมสรรัตนโกสินทร์ สำหรับข้าราชการ บริษัทจังหวัดก็สร้างโรงแรมในตัวเมืองเพชรบูรณ์ไว้รองรับคนเดินทาง สร้างตลาดขึ้น ๓ แห่งที่เพชรบูรณ์ หล่มสัก และวังชมพู กำหนดให้ทุกตลาดต้องมีโรงมหรสพด้วย ทั้งยังมีหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของเพชรบูรณ์โดยเฉพาะ ในชื่อ “เพชรบูลชัย” เป็นสาขาหนังสือพิมพ์ “ไทยราษฎร์” ของบริษัทศรีกรุง ในหน้าหนึ่งนอกจากชื่อหนังสือพิมพ์แล้ว ยังมีคำขวัญพิมพ์ไว้ประจำคือ “เชื่อพิบูล ชาติไม่แตกสลาย”

ในด้านการชลประทาน ได้ย้ายกระทรวงเกษตรฯมาอยู่ที่บ้านน้ำคำ ตำบลบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก สร้างทำนบ เขื่อน และฝายกักเก็บน้ำ ลอกลำห้วยต่างๆ และรักษาคูคลองตลอดจนแม่น้ำป่าสักให้สะอาด เพื่อเมืองหลวงใหม่มีน้ำใช้ตลอดปี
ในด้านการคมนาคม ได้ตัดถนนสายตะพานหินเชื่อมกับจังหวัดพิจิตรขึ้นเป็นสายแรก ให้ชื่อว่า “ถนนสามัคคีชัย” รองรับการเดินทางมาทางรถไฟ ฝ่าป่าดงดิบและเทือกเขาที่สูงชัน ไต่มาตามขอบเหว ทำให้คนตัดถนนตายเพราะไข้ป่าและคนเดินทางตกเหวไปมาก จากนั้นจึงตัดถนนจากลำนารายณ์ ผ่านวิเชียรบุรี มาเชื่อมกับถนนตะพานหินที่วังชมพู ย้ายกรมโยธาเทศบาล (กรมโยธาธิการ) มาอยู่ที่บ้านยาวี อำเภอเมืองฯ วางผังสร้างกรมไปรษณีย์ กรมทางและกรมขนส่ง ที่บ้านท่าพล อำเภอเมืองฯ และจะสร้างทางรถไฟจากอำเภอชัยบาดาล ลพบุรี ไปที่เพชรบูรณ์จนไปถึงจังหวัดเลย มีการสร้างบำรุงถนนสายหลักของเพชรบูรณ์ ตั้งแต่วังชมพูถึงค่ายทหารบ้านหินฮาว อำเภอหล่มเก่า เกณฑ์คนนับแสนมาจาก ๒๙ จังหวัด เพื่อเป็นแรงงานตัดถนนและสร้างเมืองใหม่แล้ว ยังจัดสรรที่ดินทำกินให้ที่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก พร้อมเงินทุน เพื่อให้ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ผลิตอาหารให้กองทัพและชาวเมือง

ขณะนั้นเพชรบูรณ์ยังเป็นป่า มีเชื้อไข้มาเลเรียอยู่มาก คนต่างถิ่นที่ยังไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศและการป้องกัน จึงเจ็บป่วยล้มตายกันเป็นจำนวนมากทุกวัน ทั้งยังมีเสือลากคนไปกินเป็นประจำ กล่าวขานกันว่าเป็นเมืองมฤตยูที่ข้าราชการจากกรุงเทพฯกลัวกันมาก แต่การย้ายผู้คนและสถานที่ราชการมาอยู่เพชรบูรณ์ก็ไม่หยุดยั้ง มีการแต่งตั้ง พ.อ.ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม เป็นรองนายกรัฐมนตรีบัญชาการเพชรบูรณ์โดยเฉพาะ เรียกว่า “รองนายกฯประจำเพชรบูรณ์”

ในวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๔๘๗ จอมพล ป.พิบูลสงครามได้มาเป็นประธานทำพิธีฝังเสาหลักเมืองด้วยตัวเอง ที่บ้านบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก เพิ่มจากหลักเมืองเก่าในอำเภอเมือง ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ให้เป็นหลักเมืองของเมืองหลวงใหม่ด้วย

การก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วน และถือเป็นความลับทางยุทธศาสตร์ แต่งานใหญ่ขนาดนี้ปิดอย่างไรก็ไม่มิด จอมพล ป.ได้แก้ตัวว่าจะอพยพส่วนราชการหนีการโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตร และอาศัยช่วงที่สภาปิดสมัยประชุม ประกาศใช้ “พระราชกำหนดระเบียบบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พุทธศักราช ๒๔๘๗” กำหนดให้การบริหารราชการส่วนภูมิภาคจังหวัดเพชรบูร์ เป็น “นครบาลเพชรบูรณ์” พร้อมกันนั้นยังประกาศ “พระราชกำหนดพุทธบุรีมณฑล พุทธศักราช ๒๔๘๗” กำหนดให้จังหวัดสระบุรีเป็นเมืองศาสนา เขตปลอดทหาร เพื่อกันไม่ให้ญี่ปุ่นเคลื่อนทหารเข้ามาใกล้

ในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๘๗ จอมพล ป.พิบูลสงครามได้เสนอพระราชกำหนดนี้ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขออนุมัติเป็นพระราชบัญญัติ ขณะนั้นสงครามมีท่าทีว่าใกล้สงบ ฝ่ายเสรีไทยเกรงว่าถ้าให้จอมพล ป.ที่ทำสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปจนสงครามสงบ ไทยจะต้องตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามด้วย จึงหว่านล้อมสมาชิกสภาให้คว่ำพระราชกำหนดทั้งสองฉบับนี้ รัฐบาลก็ไม่สามารถพูดความจริงในการออกพระราชกำหนดทั้งสองฉบับนี้ได้ ทำให้แพ้ไปด้วยคะแนนเสียง ๓๖ ต่อ ๔๘ และ ๓๔ ต่อ ๔๑ จอมพล ป.ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเผด็จการ มีทั้งกองทัพไทยและกองทัพญี่ปุ่นหนุน ก็ยอมเคารพกฎกติกา ประกาศลาออกในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ดับฝันที่จะให้เพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง

การสร้างเมืองหลวงใหม่ในขณะนั้น นอกจากจะเป็นงานลับแล้วยังต้องทำอย่างเร่งรีบ งบประมาณก็จำกัด วัตถุที่ใช้ส่วนใหญ่จึงเป็นไม้ไผ่ แม้แต่“บ้านสุขใจ” ทำเนียบริมแม่น้ำป่าสักที่พักของจอมพล ป. แม้ดูใหญ่โตก็ยังทำด้วยไม้ไผ่ทั้งหลัง โรงพิมพ์ธนบัตรมิดชิดกว่าทุกแห่ง แต่ก็แค่ล้อมรั้วสังกะสี สิ่งก่อสร้างต่างๆจึงผุพังไปตามกาลเวลา ไม่เหลือร่องรอยอดีตไว้ นอกจาก “ศาลหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์” ที่ทำด้วยปูนซีเมนต์ จึงเป็นอนุสรณ์สถานเพียงแห่งเดียวที่เหลืออยู่ในขณะนี้

ต่อมาชาวเพชรบูรณ์ได้สร้าง “วงเวียนนครบาลเพชรบูรณ์” ขึ้นมาใหม่เป็นอนุสรณ์ และในปี ๒๕๔๖ ยังได้สร้าง “หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์” ขึ้นเป็นอนุสรณ์ “นครบาลเพชรบูรณ์” อีกแห่ง ภายในอาคารเป็นหอประชุมใหญ่ จัดแสดงภาพและโบราณวัตถุที่เกี่ยวกับความเป็นมาของจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมทั้งหลักฐานการก่อสร้างเป็นเมืองหลวง แต่หน้าอาคารมีรูปปั้นเป็นฝักมะขามยักษ์สีทองโดดเด่น ประกาศให้รู้ทั่วกันว่า แม้จะไม่ได้เป็น“เมืองหลวง”ดังฝัน ก็ได้เป็น“เมืองมะขามหวาน” ที่โด่งดังเหมือนกันแหละพี่น้อง

ขอขอบคุณข่าวจาก http://manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9590000037264

Go to top