สมุนไพรกับการท่องเที่ยวดูจะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันเท่าไร แต่ที่ 'บ้านดงบัง' จ.ปราจีนบุรี ได้รวมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

ทำให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ให้ทั้งความบันเทิงและองค์ความรู้ด้านการปลูก การเก็บเกี่ยว แปรรูป พร้อมทั้งสรรพคุณนานาประการของสมุนไพรไว้อย่างครบครัน นอกจากนั้นยังได้ลิ้มรสอาหารเมนูสมุนไพร ผ่อนคลายความเมื่อยล้าด้วยการนวดตามแบบฉบับอโรมา เธอราพี พร้อมทั้งมีที่พักแบบโฮมสเตย์ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติของชนบท

จุดเริ่มของการท่องเที่ยว

หมู่บ้านท่องเที่ยวสมุนไพร'ดงบัง' หมู่บ้านเล็กๆในตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เกิดภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง ด้วยหมู่บ้านแห่งนี้เป็นแหล่งปลูกสมุนไพรแหล่งสำคัญที่ป้อนให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (โรงพยาบาลที่นำการแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพรมาผสมผสานกับการรักษาแผนปัจจุบัน) มาตั้งแต่ปี 2543 ทำให้ชาวบ้านได้นำความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายมาใช้ในการเพาะปลูกและแปรรูปสมุนไพร อีกทั้งยังได้นำการปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ที่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรแนะนำมาใช้จนได้เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพ ปราศจากสารปนเปื้อน
      
       จนหมู่บ้านดงบังเป็นที่กล่าวถึงไปทั่ว เกษตรกรจากภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศแห่แหนกันมาศึกษาดูงานและนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาการปลูกพืชในท้องถิ่นของตนเอง เมื่อองค์กรต่างๆเข้ามาดูงานกันมากขึ้นหลายฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่าน่าจะพัฒนาให้หมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยมีสมุนไพรนานาชนิดเป็นจุดขาย จึงเกิดเป็นโครงการ 'หมู่บ้านท่องเที่ยวสมุนไพร' ขึ้นเมื่อปี 2548
       
       พาชมการปลูกและแปรรูป
       
       สมัย คูณสุข ประธานที่ปรึกษากลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง เล่าถึงที่มาที่ไปของหมู่บ้านท่องเที่ยวสมุนไพรบ้านดงบัง ว่า
       
       "หลังจากที่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรของเราได้รับรางวัลโอท็อปทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นจึงมีหน่วยงานต่างๆติดต่อขอเข้ามาดูงานอย่างต่อเนื่อง เพราะเขาอยากทราบถึงเทคนิกการปลูกสมุนไพรปลอดสารพิษซึ่งถือเป็นจุดเด่นของเรา รวมถึงขั้นตอนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ก็เลยเกิดไอเดียว่าไหนๆก็มีคนมาดูงานกันอยู่เรื่อยๆแล้วเราก็น่าจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเสียเลย
       
       โดยเป็นการท่องเที่ยวที่นำสมุนไพรมาเป็นจุดขาย นอกจากจะนำองค์ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรมาถ่ายทอดให้นักท่องเที่ยวได้รู้แล้ว กิจกรรมต่างๆก็ยังเกี่ยวพันกับสมุนไพรทั้งหมด ซึ่งผู้ที่เข้ามาจะได้รู้ว่าทำอย่างไรพืชผักที่ไม่ใช้สารเคมีจึงจะงอกงามและออกดอกออกผลดี รู้ถึงวิธีการแปรรูปและสรรพคุณต่างๆของสมุนไพร ได้กินอาหารที่ทำจากสมุนไพรซึ่งรับรองได้ว่าอร่อยมากๆ "
       
       บ้านดงบังนับเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวสมุนไพรแห่งแรกของไทย โดยเป็นการท่องเที่ยวแบบครบวงจร ผู้ที่มาเยือนจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านตั้งแต่การปลูกสมุนไพร การเก็บเกี่ยว และการแปรรูป โดยจะมีชาวบ้านและลูกๆหลานๆเป็นไกด์นำชมสวนสมุนไพรพร้อมทั้งอธิบายถึงขั้นตอนการปลูก การแปรรูป รวมทั้งสรรพคุณของสมุนไพรแต่ละตัวด้วย
       
       โดยเส้นทางท่องเที่ยวในหมู่บ้านสมุนไพรนั้นจะพาท่านไปชมแปลงเพาะปลูกพืชผักสมุนไพรนานาชนิด ดูโรงตากและอบสมุนไพรที่ใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ โรงบดสมุนไพรก่อนที่จะนำไปแปรรูป โรงงานแปรรูปสมุนไพรให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำพริกสมุนไพรหญ้าปักกิ่ง สะเดาอบแห้ง น้ำมันเหลือง ลูกประคบสมุนไพรชนิดแห้ง ชุดสมุนไพรสำหรับอบตัว และโรงทำปุ๋ยหมัก
       
       หากเมื่อยล้าจากการเดินก็มีบริการสปาเพื่อสุขภาพ มีทั้งบริการนวดฝ่าเท้า นวดแผนไทย อบตัว และประคบด้วยสมุนไพร โดยจะใช้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่ชาวบ้านปลูกขึ้นเอง หรือหากต้องการจะค้างคืนก็มีที่พักแบบโฮมสเตย์ไว้บริการ อีกทั้งมีผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรชนิดต่างๆจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจด้วย
      
       ชิมเมนูสมุนไพร
       
       
       เสน่ห์อีกอย่างที่สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนบ้านดงบังก็คือเมนูสมุนไพรเลิศรสที่บรรดาแม่ครัวหัวป่าก์ได้นำเอาพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านมาปรุงแต่งเป็นอาหารจานเด็ดไว้จำหน่ายแก่นักเที่ยว ซึ่งอาหารเหล่านี้ล้วนแต่ช่วยบำรุงร่างกายและมีคุณค่าทางโภชนาการ
       
       เช่น ยำผักกะสัง ผักน้ำต้นอวบอ้วนที่เรารู้จักในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ครั้งสมัยเด็กๆ ถูกนำมาคลุกรวมกับมะม่วงซอย แครอท ขิงซอย หอมแดง โหระพา ใบสะระเหน่ พริกสดซอยเป็นชิ้นยาว เพิ่มรสชาติเค็มมันด้วยกุ้งแห้งตัวโต และถั่วลิสงบดหยาบ ราดด้วยน้ำยำสามรสที่ปรุงจากน้ำมะนาว น้ำปลา น้ำตาลทรายไม่ฟอกสี และพริกขี้หนูทุบ รับประทานคู่กับหมูหยอง เข้ากันอย่าบอกใคร ที่สำคัญยำผักกะสังจานนี้มิใช่แค่มีรสชาติถูกปากและไขมันเหมาะกับสาวๆที่ลดความอ้วนเท่านั้นแต่ยังมีสรรพคุณในการต่อต้านอนุมูลอิสระอันเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็ง
       
       ทองอินทร์ หาดเจียง ไกด์ชาวบ้านของบ้านดงบัง บอกเล่าถึงที่มาของเมนูจานนี้ว่า
       
       "ยำผักกะสังข์นี่เกิดจากแนวคิดที่ว่าผักกะสังข์เป็นผักที่ดูดสารอาหารทุกอย่างไว้ในลำต้น รวมทั้งสารเคมีและสารพิษต่างๆด้วย แต่เมื่อชาวบ้านดงบังสามารถปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์หรือพืชผักปลอดสารพิษได้แล้ว ผักทุกอย่างของเราก็จะปลอดสาร 100% เราต้องการให้นักท่องเที่ยวเห็นว่าแม้แต่ผักกะสังข์ซึ่งเป็นพืชที่ดูดสารพิษได้มากที่สุดจนคนสมัยก่อนไม่กล้ากินผักชนิดนี้ แต่เราสามารถนำผักกะสังข์มาปรุงเป็นอาหารได้เพราะปัจจุบันดินและน้ำของเราปลอดสารพิษอย่างสิ้นเชิง"
       
       อีกจานหนึ่งที่ทั้งแปลกและอร่อยก็คือแกงไพลม่วงกับปลาดุก รสชาติกลมกล่อม เผ็ดนำตามแบบฉบับแกงทั่วไป ตามด้วยเค็มจากน้ำปลาดี และหวานปะแล่มจากหัวกะทิเข้มข้น เนื้อของไพลม่วงสดที่ฝานเป็นชิ้นพอคำเคี้ยวหนึบหนับคล้ายหน่อไม้ดองแต่รสชาติอร่อยไปอีกแบบ
       
       ไพลม่วงเป็นพืชตระกูลไพล มีสรรพคุณในการขยายหลอดเลือด ขับลม ขับประจำเดือน และเป็นยาระบายอ่อนๆ ปัจจุบันเป็นพืชท้องถิ่นของบ้านดงบังซึ่งชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้
       
       นอกจากนั้นยังมีอาหารจานสมุนไพรที่ทั้งอร่อยและมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกหลากหลายเมนู อาทิ ส้มตำลูกยอ ยำใบบัวบก แกงขี้เหล็ก น้ำพริกปลาทูสด
       
       ส่วนเครื่องดื่มก็มีน้ำสมุนไพรต่างๆที่ให้รสชาติหวานหน่อยๆ ดื่มแล้วชื่นใจแบบไม่ผสมน้ำตาล เช่น น้ำหญ้าปักกิ่ง ชุมเห็ดเทศ อัญชัน รางจืด กระชาย กระเจี๊ยบแดง ขิง มะตูม ใบบัวบก ซึ่งสมุนไพรแต่ละชนิดก็มีสรรพคุณที่แตกต่างกันไป อาทิ หญ้าปักกิ่ง ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ต้านเซลมะเร็งประเภทมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งเต้านม , ชุมเห็ดเทศ มีสรรพคุณแก้ปวดท้อง เป็นยาระบาย แก้หอบหืด แก้แพ้ ลดการอักเสบ และช่วยรักษาโรคเบาหวาน , อัญชัน ทำให้เลือดไหลเวียนดี ขับปัสสาวะ บำรุงสายตา และช่วยต้านอนุมูลอิสระอันเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็ง , รางจืด มีคุณสมบัติช่วยถอนพิษ แก้แพ้ แก้ท่องร่วง ปัจจุบันนิยมดื่มเพื่อแก้อาการเมาค้าง
       
       'เพชรสังฆาต'สมุนไพรประจำถิ่น
       
       บ้านดงบังมีสมุนไพรขึ้นชื่อมากมายหลายชนิด อาทิ หญ้าปักกิ่ง ฟ้าทะลายโจร ยอ เพกา ชุมเห็ดเทศ เสลดพังพอน ฯลฯ ซึ่งบางชนิดเป็นสมุนไพรหายากแต่กลับพบมากที่นี่ เช่น เพชรสังฆาต ไพรม่วง โดยเฉพาะเพชรสังฆาตหรือที่ในบางพื้นที่เรียกว่าตำลึงทองนั้นดูจะเป็นสมุนไพรที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักแต่จัดเป็นพืชท้องถิ่นของบ้านดงบัง มีสรรพคุณเด่นในด้านการสมานกระดูก จนหมอยาแถวเพชรบุรีเรียกต้นเพชรสังฆาตว่า 'ต้นต่อกระดูก'นอกจากนั้นยังช่วยรักษาอาการประจำเดือนผิดปกติ ไข้หวัด รักษาโรคมะเร็งและโรคริดสีดวงทวารอีกด้วย
       
       สำหรับวิธีนำต้นเพชรสังฆาตมาใช้รักษาโรคนั้นมีหลายวิธี อาทิ การสมานกระดูกให้นำเถาเพชรสังฆาตที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไปตำผสมกับเหล้าแล้วทาบริเวณที่กระดูกหัก นำรากหรือใบมาตำให้ละเอียดพอกตรงที่กระดูกหัก หากมีอาการไข้หวัดให้นำต้นเพชรสังฆาตมาต้มดื่มต่างน้ำ ส่วนผู้ที่เป็นโรคมะเร็งให้นำเพชรสังฆาตมาต้มรวมกับต้นเหงือกปลาหมอ ทองพันชั่งและหัวร้อยรู กรองเอาแต่น้ำมาดื่ม
       
       สำหรับวิธีรักษาโรคริดสีดวงนั้นต้องรับประทานสดๆ แต่เนื่องจากเพชรสังฆาตมีผลึกแคลเซียมอ๊อกซาเลทสูง การเคี้ยวหรือสัมผัสโดยตรงจึงอาจทำเกิดอาการระคายเคือง วิธีรับประทานจึงควรนำเถาเพชรสังฆาตสด 2-3 องคุลี หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ สอดไว้ในชิ้นแตงกวาหรือกล้วยหั่น แล้วกลืนลงไป หรือนำผงเพชรสังฆาตตากแห้งมาคลุกกับมะขามเปียกเพื่อให้กรดที่มีอยู่ในมะขามช่วยฆ่าพิษจากผลึกแคลเซียมอ๊อกซาเลทที่อยู่ในพชรสังฆาต จากนั้นปั้นป็นลูกกลอนเล็กๆ รับประทานวันละ 3 ครั้ง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ผลิตเพชรสังฆาตแบบแคปซูลสำหรับรักษาอาการโรคริดสีดวงทวารด้วย
       
       เสน่ห์แห่งภูมิปัญญา
       
       นอกจากธรรมชาติ ป่าไม้และต้นไม้ใหญ่ๆที่หาได้ยากในหมู่บ้านที่อยู่ในเขตเมือง ซึ่งเป็นจุดเด่นของที่นี่แล้ว เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของการท่องเที่ยวหมู่บ้านสมุนไพรดงบังก็คือภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยชาวบ้านได้นำความรู้ที่ตกทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายมาปรับใช้กับวิถีปัจจุบัน
       
       ภ.ญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้าโครงการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึงการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้กับการท่องเที่ยวหมู่บ้านดงบัง ว่า
       
       "ในส่วนของการนำชมสวนสมุนไพรนั้นชาวบ้านที่มีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรก็จะคอยอธิบายให้นักท่องเที่ยวรู้ถึงสรรพคุณต่างๆของพืชแต่ละชนิด นอกจากนั้นยังมีการผลิตสินค้าจากสมุนไพรต่างๆด้วย เช่น ไพลม่วงที่นอกจากสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารแล้วยังนำไปเคี่ยวเป็นน้ำมันไพลและใส่ในลูกประคบ ซึ่งถือว่าการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เคยถูกละเลยให้กลับฟื้นคืนขึ้นอีกครั้ง ขณะเดียวกันภูมิปัญญาท้องถิ่นก็มีส่วนผลักดันให้การท่องเที่ยวของที่นี่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังเป็นแหล่งเผยแพร่ทางวิชาการเพื่อให้คนไทยรู้จักใช้ประโยชน์จากพืชพรรณดังเดิมที่เขามีอยู่ในท้องถิ่น"
      
       การนำสมุนไพรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆนั้นนับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ล่าสุดมีการนำสะเดาสดมาอบแห้งเพื่อให้สามารถเก็บรักษาสะเดาเอาไว้รับประทานได้ตลอดทั้งปี โดยเวลารับประทานก็เพียงแต่นำสะเดาอบซึ่งบรรจุอยู่ในซองสุญญากาศออกมาแช่น้ำไว้ประมาณ 5 นาที เราก็จะได้สะเดาที่มีรสชาติไม่แตกต่างจากสะเดาสดทั่วไป ซึ่งสะเดาอบบ้านดงบังของแห้งนั้นจำหน่ายในราคาเพียงแพคละ 15 บาทเท่านั้น ในขณะที่ในช่วงนอกฤดูกาลราคาสะเดาสดจะสูงถึงกำละ 20 บาทเลยทีเดียว
       
       ประธานที่ปรึกษากลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง บอกเล่าถึงที่มาของแนวคิดในการทำสะเดาอบแห้ง ว่า
       
       "เนื่องจากในช่วงหน้าสะเดาจะมีสะเดาออกมาเยอะมาก ทำให้ราคาตก แต่ช่วงนอกฤดูราคาจะสูงมากแต่ไม่มีของขาย เราก็เลยมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถเก็บสะเดาเอาไว้ได้นานๆโดยที่คุณภาพไม่เปลี่ยนแปลง ก็นึกถึงมะกรูดที่เขาเอามาอบแห้งก็เลยลองนำสะเดามาอบแห้งดู ปรากฏว่าตอนเอามาใช้แค่แช่น้ำก็ลับเป็นสะเดาสดเหมือนเดิม เราสามารถนำออกขายในช่วงนอกฤดูซึ่งได้ราคาดีกว่า แต่เราตั้งราคาขายต่ำกว่าสะเดาสด เพื่อให้ผู้บริโภคได้กินสะเดาในราคาที่ถูกลงด้วย"
       
       หมู่บ้านท่องเที่ยวสมุนไพรดงบังนับเป็นการนำทรัพยากรท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้านมาเป็นจุดขายในการท่องเที่ยวได้อย่างชาญฉลาด ทุกคนที่ได้เข้ามาสัมผัสต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอดหลงเสน่ห์ของหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่เพียงความหลากหลายของสมุนไพรนานาชนิดเท่านั้นแต่น้ำจิตน้ำใจและความใสซื่อของชาวบ้านที่ให้การต้อนรับอย่างไร้จริตนั้นดูจะเป็นเสน่ห์ร้ายที่มัดใจผู้มาเยือนได้ชงัดนัก

      
       หมายเหตุ : ค่าที่พักแบบโฮมสเตย์ 100 บาท/คืน
                      ค่าอาหาร 70 บาท/มื้อ (แล้วแต่นักเที่ยวจะเลือกว่าต้องการอาหารกี่มื้อและมื้อใดบ้าง)
                      เบอร์ติดต่อ กลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง โทร. 07-6008842 , 07-0875039
       
       เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน

 ที่มา:http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9490000100473

 

Go to top