อะไรคือมาตรฐานที่แท้จริงของการตั้งราคาอาหาร? ผู้คนวิพากษ์ราคาข้าวแกงถุงละ 500 บาทว่าเอาเปรียบเกินไปหรือไม่? มาตรฐานการตั้งราคาอยู่ที่ไหน? และเมื่อไหร่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะลงมาตรวจสอบ?
ดรามา “ข้าวแกง” ฆ่าตัวตายทางอ้อม
จากรณีกระทู้เตือนภัย “บทเรียนราคาแพง ซื้อข้าวแกงถุงละ 500 บาท จ่ายทั้งหมด 4,450 บาท ได้กับข้าวไม่ถึง 10 อย่าง” สร้างกระแสฮือฮาในโลกออนไลน์อย่างหนักโดยเจ้าของเรื่องระบุว่า
ได้ไปซื้ออาหารที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดจันทบุรี เพื่อนำไปทำบุญ แต่พบว่าราคาข้าวแกงแพงถึงถุงละ 500 บาท เมื่อเช็กบิลราคากว่า 4,450 บาท ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูทั้งในเรื่องของการเอาเปรียบผู้บริโภคและการค้ากำไรเกินควร
เมื่อกระทู้ดังกล่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ทำให้ “เจ้ลิ้ม” แม่ค้าร้านขายข้าวแกงดังกล่าวได้ออกมายืนยันว่าขายข้าวแกงมูลค่ารวม 4,450 บาท ให้กับลูกค้าจริง และอ้างว่าการที่ขายราคานี้เป็นเพราะอาหารของร้านนั้นทำจากวัตถุดิบมีคุณภาพ
พร้อมบอกด้วยว่าทางร้านไม่ได้ขายแพง เปิดมานานกว่า 50 ปีแล้ว รับประกันว่ามีแต่อาหารคุณภาพ อีกทั้งยังมีออเดอร์ส่งไปต่างประเทศและการันตีรับรองความอร่อยอีกด้วย
ผู้ขายโชว์ตักกับข้าวใส่ถุงเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ระหว่างแกงถุงละ 500 บาท กับถุงละ 50 บาทว่าต่างกันขนาดไหนไหนในรายการ “ยกทัพข่าวเช้า” และทันทีที่เรื่องราวนี้ถูกเผยแพร่อีกครั้ง
ทำให้เจ้าของกระทู้ต้นเรื่อง ได้นำภาพและคลิปจากรายการ “ยกทัพข่าวเช้า” มาให้ชมกันชัดๆ อีกครั้งตอนที่พนักงานของร้าน ได้ตักกับข้าวให้ดูว่า แบบราคาถุงละ 500 กับราคาถุงละ 50 บาท ที่ทางร้านขายนั้นว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
หลายคนที่ทราบข่าวเรื่องนี้ต่างแสดงความคิดเห็นกันไปต่างๆ นานา โดยหลายคนมองว่า ถุงละ 500 บาท ก็ยังแพงเกินไปอยู่ดี และถ้าปริมาณได้เท่านี้ ซื้อถุงละ 50 บาท 10 ถุง ยังจะได้ปริมาณกับข้าวเยอะกว่าเสียอีก บ้างก็กล่าวอ้างถึงกฎหมายไทยไม่มีความเข้มงวดที่จะจัดการกับร้านค้า บ้างก็ว่าทำแบบนี้ถือว่าร้านค้าเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด
“จะจำไว้และจะไม่ไปกิน ข้าวแกงแสนแพง กฎหมายไทยมีไว้เพื่ออะไร”
“อยากขอให้กรมสรรพากรเข้าตรวจสอบการเสียภาษีของร้านนี้ด่วน เอาให้กรรมตามทัน ขูดรีดกับประชาชนแบบนี้ควรจัดการเด็ดขาด หน้าเลือดมาก การกระทำมันบ่งบอกถึงความไม่ซื่อสัตย์ต่ออาชีพ”
“แพงมาก เอาเปรียบสุดๆ สคบ. ทำอะไรมากว่านี้หน่อย เอาต้นทุน วัตถุ ค่าแรง มากางดูได้เลย เกือบ 5000 บาท กินได้เป็นเดือน ผู้สื่อข่าวไปถามคนกินในร้าน ว่าแพง อร่อยไหม ใครจะกล้าออกความเห็นตรงๆ ส่วนผู้เสียหาย ซื้อไปงานบุญ ก็คงไม่อยากมีเรื่องหรอก”
“กับข้าวถุงละ 500 บาท มันแพงมากสำหรับผม ถ้าเป็นผม 500 บาท ซื้อของมาทำกับข้าวก็ได้หลายอย่างนะ ยิ่งยุคนี้ต้องประหยัด น้ำมันขึ้นราคา ข้าวยากหมากแพง ประหยัดได้ก็ต้องประหยัด ท่านไหนมีทุนทรัพย์เยอะ อยากไปอุดหนุนเขาก็เชิญเลยนะครับ”
ไม่ใช่ครั้งแรกที่ค้ากำไรเกินควร!
ถ้าจะให้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ข้าวแกงแพงเกินมาตรฐานในครั้งนี้ จากมุมมองของนักสื่อสารการตลาดอย่าง “กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช” หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จึงขอใช้กรอบความรู้เรื่องการค้าเข้ามาตัดสิน โดยมองว่าร้านค้าควรมีป้ายบอกราคาอย่างชัดเจน ส่วนลูกค้าเองก็ต้องสอบถามราคาให้แน่ชัดเช่นกันเพื่อไม่ให้เกิดความใจผิด
“หลักสากลประการหนึ่งของการค้าขาย ควรมีป้ายราคา หรือแจ้งราคาให้ผู้บริโภครับทราบก่อนการตัดสินใจ ในกรณีนี้ร้านค้าตักใส่ถุงแล้วจึงคิดเงินรวมออกมา ซึ่งลูกค้าเองก็สั่งในปริมาณที่ไม่ปกติ และร้านค้าเองก็ควรจะแจ้งราคาก่อน
เพราะลูกค้าอาจจะตกใจและเกรงใจไม่กล้าคืนสินค้า เพราะเห็นตักใส่ถุงแล้วลูกค้าเองก็ต้องมีหน้าที่ตรวจสอบหรือตกลงราคาก่อนใช้บริการทุกครั้ง เพราะถ้าไม่มีป้ายราคาควรสอบถามราคาให้ชัดเจนก่อน หรือไม่ซื้อสินค้าจากร้านที่ไม่บอกราคาชัดเจน”
ทว่า กรณีนี้ไม่ใช่กรณีแรกที่ร้านค้าเอาเปรียบผู้บริโภคโดยการคิดค่าราคาอาหารเกินจริง ยังมีอีกหลายกรณีอย่างเมื่อช่วงหลายเดือนก่อนที่ผ่านมาร้านอาหารแห่งหนึ่งบนถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ก็เช่นกัน เอาเปรียบชาวต่างชาติโดยคิดราคาอาหารมื้อเดียวแพงถึง 8,000 บาท
หรือกรณีเมื่อต้นปีอย่างสโมสรทหารบก ก็ยังคิดราคาอาหารจานเดียวอย่างข้าวราดกะเพรา แพงหูฉี่ถึงจานละ 100 บาท ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยต่างสงสัยว่าการคิดราคาใช้อะไรเป็นตัวกำหนด แม้ว่าผู้ประกอบการเหล่านี้อาจจะมองว่ามันเป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่จะสามารถกอบโกยเงินเข้ากระเป๋าเท่านั้น แต่จุดเล็กๆ นี้มันคือความเห็นแก่ตัวที่เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด
“ร้านอาหารที่ขายอาหารแพงมีมากมาย แต่อย่างร้านค้าที่คิดจะขายอาหารแพง มองดูสินค้า บริการ คุณภาพอาหาร และสถานที่ ของตัวเองก่อนว่าสมควรที่จะขายแพงแค่ไหนตรงกับความคาดหวังของผู้บริโภคหรือไม่ ถ้าขายโดยไม่ตรงกับความคาดหวัง สุดท้ายก็ต้องเกิดเรื่องเสียหายแน่นอนต่อแบรนด์ร้านค้า”
เมื่อร้านค้าคิดราคาค่าอาหารแพงหูฉี่แบบไม่คำนึงถึงผู้บริโภคอย่างนี้แล้ว อาจจะต้องการกำไรที่มากขึ้นกว่าเดิม หรืออาจจะต้องการสร้างชื่อเสียงให้กับร้านของตนเอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ แต่ที่แน่ๆ ผลตอบรับที่ได้กลับมาคือชื่อเสียงในด้านลบแน่นอน และเมื่อเทียบกับอาหารตามร้านอาหารหรือภัตตาคารหรูๆ ถือว่าเป็นการค้ากำไรที่เกินควร
“คนทั่วไปที่เห็นภาพส่วนใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่พูดว่าราคาแพงไป เป็นเสียงเดียวกัน ดังนั้นถึงแม้ร้านจะต้องการกำไรมากหน่อย แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาด้วยคือชื่อเสียงในทางลบ เป็นการค้ากำไรเกินสมควร เพราะถึงแม้ว่าบางท่านจะลองเทียบกับอาหารภัตตาคารหรูที่มีราคาแพงพอๆ กัน หรือเทียบในเชิงปริมาณ แต่เสียงของมหาชนชาวเน็ตออนไลน์ส่วนใหญ่ก็ยังตำหนิติเตียนร้านค้าว่าของแพงเกินไป”
ต่อข้อซักถามที่ว่า อะไรคือมาตรฐานของการคิดราคาอาหาร ต้องวัดจากอะไรจึงจะเหมาะสม หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด มองว่าต้องมองสินค้า บริการ สถานที่ ทำเล ความสะดวกของลูกค้า เป็นหลัก
“นักการตลาดมองว่าคุณค่าที่นำเสนอแก่ลูกค้า คือตัวกำหนดราคาได้วิธีหนึ่ง การพิจารณาให้ดีถึงสินค้า บริการ สถานที่ ทำเล ความสะดวกของลูกค้า เป็นตัวช่วยในการกำหนดราคาให้เหมาะสมได้ การตั้งราคาอย่างง่ายๆ อาจจะพิจารณาตั้งราคาโดยคิดต้นทุนบวกกำไร โดยอย่าลืมมองถึงความต้องการของตลาด และสภาพการแข่งขันประกอบ”
ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน
ไม่ว่าจะมองมุมไหน หลายคนก็ยังคงคลางแคลงใจว่าเหตุใดหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการให้ความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคจึงไม่ลงมาตรวจสอบเรื่องนี้ อาจารย์กอบกิจเองก็คิดเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือมองว่า “หน่วยงานภาครัฐควรมี สายด่วนร้องเรียนและมีทีมงานลงพื้นที่ตรวจสอบแบบทันทีทันใด เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบมากจนเกินไป”
เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ปัญหานี้คงจะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป ดังนั้น ประชาชนทุกคนควรมีส่วนช่วยกันดูแลสอดส่อง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีก และถ้าหากผู้บริโภคเห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในการซื้อ ขาย สินค้า ควรแจ้งไปยังหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม
“ร้านค้าต่างๆ ในประเทศไทยมีมหาศาล ผู้บริโภค และสื่อมวลชนต้องช่วยกันด้วยในการบอกเล่าข่าวสารออกไป ยิ่งในปัจจุบันมีสื่อสังคมออนไลน์จะช่วยตรงนี้ได้มากในการแชร์ข่าวสารออกไป เพื่อให้เกิดการตรวจสอบควบคุมทางสังคม
ส่วนลูกค้าที่รู้สึกว่าเจอผู้ขายสินค้าราคาแพงเกินจริงควรใช้สิทธิร้องเรียนไปยังกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม ในการอุปโภคบริโภคสินค้าและบริการ”
ส่วนร้านค้าที่กระทำผิดต้องมีบทลงโทษขั้นเด็ดขาดเพื่อเป็นการป้องปรามให้กับร้านค้าอื่นๆ เอาเป็นแบบอย่างและการทำผิด มีโทษสูงสุดคือจำคุก 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท
“ควรลงโทษแล้วประกาศข่าวบทลงโทษในสื่อมวลชน เพื่อให้ร้านค้าอื่นเกรงกลัว เป็นการป้องปรามอีกทางหนึ่งด้วย ผู้ที่ขายของเกินราคาจนเกินกว่าเหตุ หรือจงใจทำให้ราคาสูงเกินสมควร ก็จะมีความผิด ตามกฎหมายการกำหนดหรือรักษาระดับราคาสูงอย่างไม่เป็นธรรม หรือสูงเกินสมควร (Unreasonably High Price)
ในมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 โดยมีโทษจำคุก 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีหากเข้าข่ายฉ้อโกง จะมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท”
หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด กล่าวทิ้งท้ายว่าการทำธุรกิจต้องทำด้วยความจริงใจและต้องมีความรับผิดชอบเป็นอย่างมาก เพราะในยุคสมัยนี้การใช้โซเชียลมีเดียสามารถจะแพร่สะพัดเรื่องราวต่างๆ ออกไปได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรระวัง
“ผู้บริโภคเป็นพลังมหาชนที่ควรรู้สิทธิของตัวเอง ต้องร่วมแรงร่วมใจกันในการร้องเรียน หรือฟ้องแจ้งข่าวไปยังสื่อมวลชนทันทีที่เจอเหตุการณ์ เพื่อลดการเอาเปรียบผู้บริโภคให้น้อยลง
สุภาษิตที่ว่า ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน ก็คือเรื่องของแบรนด์ แบรนด์เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาค่อยๆ สร้าง ค่อยๆ ดูแลให้เติบโต หากคิดแต่ผลระยะสั้นย่อมไม่เกิดความยั่งยืน ยิ่งในยุคที่ผู้บริโภคเองก็มีสื่อในมืออย่างสื่อเครือข่ายสังคม ข่าวจะแพร่ไวมาก ซึ่งสุดท้ายร้านค้านั้นก็ต้องปิดตัวลงอย่างแน่นอน”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการLive
ภาพประกอบ: กระทู้พันทิป “บทเรียนราคาแพง ซื้อข้าวแกงถุงละ 500.- จ่ายทั้งหมด 4,450 บาทได้กับข้าวไม่ถึง 10 อย่าง” รายการ “ยกทัพข่าวเช้า”
ขอขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์