การขึ้นปีใหม่เป็นสถานการณ์ที่มีความสำคัญในเชิงการเงินส่วนบุคคล โดยเฉพาะสำหรับ “มนุษย์เงินเดือน” หรือลูกจ้างผู้มีเงินได้ประจำจากการทำงาน
โดยทั่วไปแล้วก็จะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 5 ถึง 6 จากปีก่อน และในปี 2560 นี้เป็นปีที่พิเศษขึ้นมาอีกสักหน่อย เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ด้วยการเพิ่มจำนวนการหักค่าใช้จ่ายเงินได้และการหักค่าลดหย่อน ทำให้ผู้เสียภาษีมีเงินออมเพิ่มขึ้น
ขออธิบายกลไกการคำนวณภาษีสักเล็กน้อย จำนวนเงินที่เราได้รับจากนายจ้างหรือวิธีการอื่นๆ จะถูกเรียกว่า “เงินได้พึงประเมิน” ซึ่งเงินก้อนนี้ไม่ได้เป็นตัวบอกว่าเราจะต้องจ่ายภาษีเยอะหรือน้อย เนื่องจากต้องนำมาหักกับรายการค่าใช้จ่ายเงินได้และค่าลดหย่อนก่อน เพื่อให้ได้ “เงินได้สุทธิ” ซึ่งจะใช้เป็นฐานคำนวณภาษีต่อไป โดยค่าใช้จ่ายเงินได้นั้นมีไว้เพื่อชดเชยต้นทุนการออกไปทำงานของผู้มีรายได้ ส่วนค่าลดหย่อนเป็นมาตรการจูงใจให้ผู้เสียภาษีดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่ภาครัฐต้องการ โดยรวมแล้วเมื่อเทียบคนสองคนที่มีเงินได้พึงประเมินเท่ากัน แต่คนหนึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อนได้มากกว่าก็จะเสียภาษีเงินได้ต่ำกว่า
ปี 2560 นี้ กรมสรรพากรปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า เป็นต้น จากปัจจุบันร้อยละ 40 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาท เป็นร้อยละ 50 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท รวมทั้งการปรับปรุงค่าลดหย่อนต่างๆ อาทิ ค่าลดหย่อนส่วนตัวจาก 3 หมื่นบาทเป็น 6 หมื่นบาท นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มในส่วนของค่าลดหย่อนคู่สมรส ค่าลดหย่อนบุตร เป็นต้น ท่านที่สนใจสามารถดูรายละเอียดได้จากข่าวกรมสรรพากร เลขที่ข่าว ปชส. 15/2559
ประเด็นนี้ทำให้ลูกจ้างมีเงินออมเพิ่มขึ้นทันทีตั้งแต่มกราคม 2560 เป็นต้นไป เนื่องจากนายจ้างจะนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของลูกจ้างเป็นจำนวนที่น้อยลงกว่าเดิม ทั้งนี้ ผู้มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 2.5 หมื่นบาทต่อเดือนจะอยู่ในขั้นที่ได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนผู้ที่มีรายได้เกินระดับดังกล่าวก็ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายลดลงด้วย
เงินที่ได้เพิ่มมาจากทั้งการปรับฐานเงินเดือนและการปรับโครงสร้างภาษีนี้ควรนำไปจัดการให้ได้ประโยชน์ เรื่องแรกที่อยากแนะนำคือการลงทุนในกองทุนรวม ที่ผ่านมาทางทีม K-Expert ได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการทำให้คนไทยเข้าใจการลงทุนแบบต่างๆ และพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้จักเพียงแค่การฝากเงินอย่างเดียว ไม่กล้าลงทุนในกองทุนรวมแม้ตนเองจะมีความพร้อมด้านการเงินก็ตาม สาเหตุคือกลัวขาดทุน
จะว่าไปแล้วก็ถูกต้อง เพราะการลงทุนไม่ใช่การฝากเงินจึงมีโอกาสที่จะสูญเสียเงินต้นได้ แต่ก็มีสองเหตุผลที่ยังคงต้องลงทุนในกองทุนรวม เหตุผลแรกคือการฝากเงินออมทรัพย์ก็ทำให้ขาดทุนในเชิงมูลค่าเงิน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปี ขณะที่ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นตลอดในอัตราที่ไม่น้อยกว่าดอกเบี้ย แปลง่ายๆ คือเมื่อเวลาผ่านไป เงินที่เราถอนออกมาใช้นั้นจะซื้อสินค้าหรือบริการได้น้อยลงกว่าเดิม
เหตุผลอีกประการหนึ่งคือกองทุนรวมก็บางประเภทมีโอกาสขาดทุนน้อย ดังเช่นกองทุนรวมตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น ซึ่งมักได้รับการจัดระดับความเสี่ยงที่ 1 หรือ 2 จากทั้งหมด 8 ระดับ กองทุนประเภทนี้มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐอายุไม่เกินหนึ่งปี ทำให้โอกาสที่ราคาตราสารและราคากองทุนจะผันผวนมีน้อยมาก นอกจากนี้ โอกาสที่ผู้ออกตราสารซึ่งได้แก่รัฐบาลไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย และวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกันนั้นจะผิดนัดชำระหนี้ ก็น้อยมากเช่นกัน
จากสถิติที่ผ่านมา กองทุนประเภทตราสารหนี้ระยะสั้นหลายกองแทบไม่เกิดผลขาดทุนเลยเป็นระยะเวลาหลายปีติดต่อกัน ผลตอบแทนที่ได้รับก็สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประมาณ 1 ถึง 3 เท่าตัว คืออยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ถึง 2 ต่อปี อีกทั้งยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายคืนหน่วยลงทุนด้วย
ดังนั้น แนะนำว่าใครที่ยังไม่เคยลงทุนกองทุนรวมก็ควรไปเปิดบัญชีได้แล้ว โดยอย่างน้อยก็เลือกกองทุนตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นไว้ก่อน วิธีการคือให้เก็บเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์เป็นจำนวนที่เพียงพอกับการใช้จ่ายในช่วง 1 ถึง 2 เดือนข้างหน้า เงินส่วนเกินที่เหลือให้นำไปเก็บไว้ในกองทุนรวมดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างผลตอบแทนในระหว่างที่ยังไม่ได้ใช้เงินนั่นเอง โดยการเปิดบัญชีก็ทำได้ง่ายดาย ที่สาขาของธนาคารพาณิชย์หรือสำนักงานของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างๆ
อีกเรื่องที่อยากแนะนำคือการตัดสินใจทำประกันชีวิต หลายท่านที่พบมักถามเรื่องผลตอบแทนจากประกัน หรือที่เรียกว่า IRR (Internal Rate of Return) เป็นอย่างแรก ทั้งนี้ หากมองในเชิงการวางแผนการเงินแล้วการทำประกันชีวิตไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่การสร้างผลตอบแทนเป็นสาระสำคัญ แต่เป็นการให้รักษาสถานภาพการเงินของครอบครัว ในกรณีที่ผู้ทำประกันซึ่งเป็นผู้หารายได้เสียชีวิต ทุพพลภาพ ทำให้ไม่สามารถหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวได้เป็นปกติ
K-Expert มองว่าผู้ทำงานควรมีทุนประกันประมาณ 3 เท่าของรายได้ต่อปี ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเวลาให้ครอบครัวที่อยู่ข้างหลังได้ปรับตัวหากผู้หารายได้หลักเกิดเหตุอะไรไป การจะทำประกันให้ได้ทุนระดับนี้เป็นเรื่องหนักเกินไปหากใช้ประกันแบบสะสมทรัพย์แต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากต้องจ่ายเบี้ยประกันสูงถึงร้อยละ 20 ถึง 25 ของเงินเดือน แต่หากลองแบ่งบางส่วนมาเป็นประกันแบบตลอดชีพบ้าง ก็จะช่วยลดจำนวนเบี้ยจ่ายโดยรวมลงมาเหลือประมาณร้อยละ 10 ถึง 15 ของเงินเดือน ซึ่งเป็นระดับที่หลายท่านสามารถยอมรับได้
ทำให้ได้แค่สองอย่างนี้ก็จะมีชีวิตการเงินที่มั่นคงขึ้นมากแล้ว
------------------------------------------------------
ขอขอบคุณบทความจาก : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=k-expert&month=12-01-2017&group=1&gblog=96