ประมงพื้นบ้านเกาะช้างรายได้ดี จับปูม้า-ตกปลาอินทรี จับปูม้าขาย โดยลงรูปบนเฟซบุ๊กช่วยโปรโมต ร้านซีฟู้ดเห็นสนใจมาสั่งซื้อมากขึ้นรอรับถึงที่ ขอบคุณนายกฯ ลุงตู่ปราบประมงผิดกฎหมาย ทำให้ปลาขนาดใหญ่มาอยู่ตามชายฝั่งมากขึ้น
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 22 ม.ค.60 นายทิวา พินทุวาด อายุ 43 ปี แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้าน ต.เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จ.ตราด กล่าวว่า จากสถานการณ์ ขณะนี้ ชาวประมงพื้นบ้านพบว่า ปูม้าและปลาอินทรีในทะเลตราดจะชุกชุมมากขึ้น ชาวประมงพื้นบ้าน (ชายฝั่ง) ต่างก็ได้นำเรือเล็กออกทะเลไปวางอวน-ลอบปู เพื่อจับปูม้าโดยรอบเกาะช้างและเกาะอื่นๆ หลังจากวางอวนและลอบแล้ว ชาวบ้านก็จะนำเบ็ดมาตกปลา หรือ ภาษาชาวประมงเรียกว่า ลากปลาอินทรี ก็จะได้ 2-3 ตัว/วัน ปลาอินทรีที่ตกได้จะมีน้ำหนักตั้งแต่ 5-16 กก. เมื่อชาวบ้านตกปลาได้แล้วก็จะนำรูปลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ทำให้เป็นที่สนใจของร้านอาหารทะเล (ซีฟู้ด) ได้มีการสั่งซื้อปลาอินทรีทางโซเชียล และมาคอยรับซื้อถึงที่ ในส่วนของปูม้าก็จับได้ครั้งละ 20-30 กก./ราย รวมขายปลาอินทรีที่ตกมาได้ ก็จะมีรายได้ 2,000-3,000 บาท/วัน/ราย
ด้าน นายอภัยภูมิ ศิลประสาร รองนายก อบต.เกาะช้างใต้ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้าน ต.เกาะช้างใต้ กล่าวว่า ปกติแล้วชาวบ้านในพื้นที่เกาะช้างและตามหมู่เกาะอื่นๆ ส่วนใหญ่จะยึดอาชีพประมงสืบทอดต่อๆ กันมาช้านาน ซึ่งในช่วงนี้กำลังมีปูม้าและปลาอินทรี ชาวบ้านจะสามารถนำเรือออกไปจับปูม้าได้ครั้งละ 20-30 กก. โดยจะมีแม่ค้าพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ในราคา 180-200 บาท/กก. เมื่อรวมกับขายปลาอินทรีที่ตกได้อีก ก็จะมีรายได้เฉลี่ยวันละ 2,000-3,000 บาท ถือว่าสร้างรายได้ดีมากสำหรับประมงพื้นบ้าน แต่ก็ได้ในช่วงระยะ 2-3 เดือนนี้เท่านั้น
ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้าน ต.เกาะช้างใต้ กล่าวอีกว่า ในรอบระยะ 7-8 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่สามารถจับปูม้าได้มากขนาดนี้ เนื่องจากมีเรืออวนลากเข้ามาจับสัตว์น้ำใกล้ชายฝั่ง จนแทบไม่เหลือสัตว์น้ำให้ชาวประมงชายฝั่งได้จับกันเลย นอกจากนี้แล้วในอดีตช่วงที่เรือประมงอวนลากเหล่านั้นเข้ามาลากใกล้ชายฝั่ง ได้สร้างความเสียหายแก่ประมงพื้นบ้าน โดยได้ลากเอาอวนปู-ลอบปู ของชาวบ้านที่วางดักสัตว์น้ำชายฝั่งไปด้วย
นายอภัยภูมิ กล่าวด้วยว่า ขอขอบคุณแทนชาวบ้านไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้มีแนวนโยบายเดินหน้าจัดระเบียบออกกฎหมาย เอาจริงกับเรือประมงขนาดใหญ่ที่ลักลอบจับปลาใกล้ชายฝั่ง ห้ามใช้เครื่องมือทำประมงโดยผิดกฎหมาย ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาได้มีการปล่อยปละละเลยมานาน ในปัจจุบันปัญหาดังกล่าวได้ลดลงไป เป็นที่น่าพึงพอใจ แทบจะไม่มีให้เห็น ทำให้แนวชายฝั่งมีปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ชุกชุม และมีขนาดใหญ่มากขึ้น หากเปรียบเทียบกับช่วงระยะ 7-8 ปีที่ผ่านมา.
ขอขอบคุณข่าวจาก https://www.thairath.co.th/content/841604